การตัดแยกพลังงานด้วย Lock Out / Tag Out

การตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock out/Tag out)

1.  การตัดแยกพลังงาน (Isolation of Energy) หมายถึง การตัดแยกระบบจากแหล่งพลังงานที่มีอันตราย ตามที่ระบุในแผนผังแสดงรายละเอียดเครื่องจักร/อุปกรณ์ เป็นลำดับขั้นอย่างปลอดภัยซึ่งภายหลังการตัดแยกนั้นเครื่องจักร/อุปกรณ์ต้องไม่สามารถปลดปล่อยพลังงานที่ทำให้เกิดอันตรายได้อีก เช่น
- การปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Off Circuit Breaker)
- การปิดวาล์วต่าง ๆ เช่น การปิดวาล์วลม การปิดวาล์วไอน้ำ การปิดวาล์วสารเคมี
- การเปิดวาล์วเพื่อให้อยู่ในสถานะที่ปลอดภัย
- การปลดแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า พลังงานลม หรือแหล่งจ่ายสัญญาณควบคุม


2.  แหล่งพลังงาน (Energy Source) หมายถึง แหล่งพลังงานใดๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานกล พลังงานลม แรงดัน สารเคมี ความร้อน หรือพลังงานอื่น ๆ ซึ่งอาจทำอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในระหว่างการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงหรืองานวิศวกรรมกับเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องแหล่งพลังงานดังกล่าวโดยปลดปล่อยพลังงานอย่างไม่คาดคิด และมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล ทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

2.1 อันตรายจากไฟฟ้า (Electrical Hazards) จะเกิดขึ้นเมื่อตัวนำหรือส่วนประกอบอื่นใดที่มีพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เมื่อเกิดการสัมผัสอย่างไม่ตั้งใจแล้ว ทำให้เกิดไฟดูดที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล หรือเกิดไฟช็อตที่ส่งผลให้ทรัพย์สินเสียหายได้

2.2 อันตรายจากพลังงานกล (Mechanical Hazards) จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการปลดปล่อยของพลังงานกลสะสมอย่างไม่คาดคิด หรือในขณะที่มีการปรับตั้ง ซ่อมบำรุง หรือดูแลระบบของเครื่องจักร/อุปกรณ์อันเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล หรือทรัพย์สินเสียหาย

2.3 อันตรายจากกระบวนการ (Process Hazards) จะเกิดขึ้นเมื่อแก๊ส ของเหลวหรือของแข็ง มีการรั่วไหลออกมาอย่างไม่คาดคิด ในขณะที่มีการปรับตั้ง ซ่อมบำรุง หรือดูแลระบบท่อ ถัง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล หรือทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2.4 พลังงานสะสม (Stored Energy) เป็นพลังงานสะสมคงค้างในตัวอุปกรณ์หรืออาจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งมีความเป็นอันตรายที่พร้อมจะปลดปล่อยพลังงานมาได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ชุดนั้นถูกตัดแยกระบบแล้ว เช่น ตัวเก็บประจุ (Capacitor) แบตเตอรี่ (Battery) สปริง (Spring) ล้อกักตุนพลังงาน (Flywheels) แก๊สที่มีแรงดัน รวมถึงกลุ่มพลังงานศักย์ (Potential Energy) หรืออุปกรณ์ที่มีผลจากแรงโน้มถ่วง (Gravitational Effect) เป็นต้น

3.  ระบบควบคุมการตัดแยกพลังงาน (The Control of Energy) หมายถึง ระบบควบคุมการตัดแยกภายหลังการตัดแยกพลังงานที่ก่อให้เกิดอันตรายนั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันการปฏิบัติงานแบบไม่ตั้งใจ หรือมีการปลดปล่อยพลังงานในขณะที่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในจุดอันตรายได้ ด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock out/Tag out System; LOTO) หรือระบบป้ายเตือน (Tag out)

4. ระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock out/Tag out System; LOTO) หมายถึงระบบการตัดแยกแหล่งพลังงานที่มีความเป็นอันตรายและการกำจัดแหล่งพลังงานที่อาจจะหลงเหลืออยู่ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ล็อกและควบคุมอุปกรณ์ตัดแยกแหล่งพลังงานที่เป็นอันตราย ณ จุดที่ทำการตัดแยก (Isolation Point) และต้องมีการติดป้ายเตือนแสดงความเป็นอันตราย ซึ่งนำไปติดไว้ที่อุปกรณ์ตัดแยกหรือจุดที่ล็อกกุญแจ

5. ระบบล็อก (Lock out System) หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการควบคุมการตัดแยกพลังงานที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งพลังงานต่าง ๆ โดยใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการล็อก โดยนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งอุปกรณ์ตัดแยกพลังงาน (Energy Isolation Device) ของต้นกำเนิดพลังงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและพลังงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดแยกแหล่งพลังงานนั้น สามารถป้องกันการปฏิบัติงานแบบไม่ตั้งใจได้

6. อุปกรณ์ตัดแยกพลังงาน (Energy Isolation Device) หมายถึง อุปกรณ์ทางกล (Mechanical) ที่มีลักษณะทางกายภาพสามารถป้องกันการส่งผ่าน หรือปลดปล่อยพลังงาน เช่น
- อุปกรณ์อุปกรณ์ตัดแยกพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) สวิตช์ตัดแยก (Disconnecting Switch) สวิตช์ที่ควบคุมโดยคน (Manually Operated) ที่ใช้ในการปลดวงจร จากแหล่งพลังงานทั้งหมด เช่น สวิตช์ไฟ ปลั๊กไฟ ยกเว้น สวิตช์ไฟสองทาง
- อุปกรณ์ตัดแยกพลังงานในกระบวนการ (Isolating Device) ได้แก่ วาล์วตัดแยก ต่าง ๆ เช่น Positive Shut off Valves (Gate, Globe, Ball, Plug หรือ Needle) อุปกรณ์ตัดแยกทางกายภาพ เช่น Slip Plate หรือ Physical Disconnection อุปกรณ์ตัดแยกทางกล เช่น Mechanical Lock หรืออุปกรณ์อื่น ที่ใช้ในการปิดกั้นหรือตัดแยกพลังงาน

7. อุปกรณ์ล็อก (Lock out Device) หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้ในการยึดหรือล็อกอุปกรณ์ตัดแยกพลังงานที่เป็นอันตรายเพื่อป้องกันการใช้งานหรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยประกอบด้วย

7.1 การล็อกแหล่งกำเนิดพลังงาน (Equipment Lock) หมายถึง กุญแจล็อกสำหรับผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการตัดแยกแหล่งพลังงาน เพื่อการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการปฏิบัติงาน โดยการล็อกแหล่งกำเนิดพลังงานนั้นใช้เพื่อแสดงว่าอุปกรณ์ได้มีการตัดแยกแหล่งพลังงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยใช้สำหรับล็อกที่แหล่งพลังงานทุกจุด ก่อนเริ่มให้ปฏิบัติงานและต้องปลดล็อกหลังเสร็จสิ้นงาน ภายหลังการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในจุดอันตราย จึงจะทำการปลดล็อกและสามารถแจ้งให้เริ่มเปิดแหล่งพลังงานขึ้นใหม่ได้

7.2 กุญแจล็อกส่วนบุคคล (Personal Lock) หมายถึง กุญแจล็อกของผู้ปฏิบัติงาน ใช้สำหรับควบคุมการตัดแยกระบบเมื่อเข้าไปปฏิบัติงาน โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิ์ในการดูแลความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งเป็นการสื่อสารว่ามีผู้ปฏิบัติงานอยู่ และในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าปฏิบัติงานในแหล่งพลังงานเพียงแหล่งเดียว ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำกุญแจส่วนบุคคลไปล็อกที่จุดตัดแยกพลังงานหรือกล่องล็อกได้ โดยให้ทำการล็อกก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และทำการปลดล็อกเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานหรือผู้ปฏิบัติงานออกจากจุดอันตรายที่มีการปฏิบัติงาน

7.3 กล่องล็อก (Lock Box) หมายถึง กล่องที่ใช้ในการเก็บลูกกุญแจของการล็อกแหล่งกำเนิดพลังงาน ภายหลังจากการทำระบบล็อกและระบบป้ายเตือนเสร็จสิ้นแล้ว

8. ระบบป้ายเตือน (Tag out System) หมายถึง ระบบที่ใช้ในการเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อสื่อสารว่าเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่ถูกตัดแยกนั้นจะไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าจะมีการปลดระบบควบคุมการตัดแยกและป้ายเตือนออก โดยมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายข้อความเตือนอันตราย เช่น ป้ายเตือนห้ามเดินเครื่องจักร (Do Not Operate) ห้ามเปิดหรือห้ามปิดวาล์ว (Do Not Open or Close the Valve)หรือ ห้ามเปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Do Not Turn on Circuit Breaker) เป็นต้น และการแขวนป้ายเตือนอันตรายนั้นต้องคำนึงถึงความมั่นคง แข็งแรง และทนต่อสภาพแวดล้อมการทำงานในขณะนั้นได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าป้ายเตือนอันตรายนั้นจะไม่ถูกทำลาย หรือสูญหายจากจุดเตือนอันตรายได้โดยง่าย

9. แบบรายการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Equipment Isolation Checklist; EIC) หมายถึง เอกสารแสดงรายการตำแหน่งการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือนของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการป้องกันแหล่งพลังงานที่เป็นอันตรายได้อย่างครบถ้วนในการปฏิบัติงานนั้น ๆ

10. แบบตรวจสอบความพร้อมก่อนการปฏิบัติงาน (Start Work Checklist) หมายถึงเอกสารสำหรับการตรวจสอบความสมบูรณ์ของการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือนโดยเจ้าของงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการป้องกันแหล่งพลังงานที่เป็นอันตรายได้อย่างครบถ้วนในการปฏิบัติงานนั้นๆ

11. แบบตรวจสอบความถูกต้องตามแนวปฏิบัติการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Verification and Validation Checklist) หมายถึง เอกสารสำหรับการตรวจสอบความสมบูรณ์ ของการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน โดยผู้บริหาร หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย
ในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการป้องกันแหล่งพลังงานที่เป็นอันตรายได้อย่างครบถ้วนในการปฏิบัติงานนั้นๆ

12. แผนผังแสดงรายละเอียดเครื่องจักร/อุปกรณ์ หมายถึง แผนผังที่แสดงตำแหน่งของเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่สามารถระบุจุดตัดแยก จุดติดตั้งอุปกรณ์ล็อกหรือป้ายเตือน โดยใช้ร่วมกับแบบรายการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน เช่น แผนภาพระบบท่อและเครื่องมือวัด (Piping and Instrumentation Diagrams; P&IDs) หรือ แผนผังระบบไฟฟ้า (Electrical Diagram) เป็นต้น

13. งานซ่อมบำรุง งานวิศวกรรมและโครงการ (Maintenance Engineering Work and Project) หมายถึง กิจกรรมการปฏิบัติงาน เช่น การติดตั้ง การปรับตั้ง การตรวจสอบ การดัดแปลง การซ่อม การบำรุงรักษา เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ รวมถึงการหล่อลื่นทำความสะอาดหรือการปรับเปลี่ยน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ที่อาจส่งผลให้ผู้เข้าปฏิบัติงานอาจได้รับการปลดปล่อยพลังงานอย่างไม่คาดคิด

14. การทดสอบ (Testing) หมายถึง การพิจารณาการตัดแยกว่าอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยต่อการเข้าไปปฏิบัติงาน โดยต้องไม่มีแหล่งพลังงานคงค้างหลังจากการตัดแยกพลังงานนั้น โดยการทดสอบนั้น จะต้องพิจารณาจากอุปกรณ์/เครื่องมือวัดที่สามารถเชื่อถือได้ (Testing Devices) ในกรณีที่กระบวนการหรือขอบเขตที่ต้องการทำการตัดแยกนั้น ไม่สามารถยืนยันการตัดแยกด้วยเครื่องมือวัดได้ โดยมีลักษณะการทดสอบดังนี้

14.1 การทดสอบการตัดแยกพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีกระแสไฟฟ้า หลงเหลืออยู่ด้วยอุปกรณ์ทดสอบที่เชื่อถือได้และทดสอบโดยผู้ที่มีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า และเข้าใจถึงวิธีการอ่านค่าอย่างถูกต้อง เช่น การใช้ไขควงวัดไฟ (สัมผัสที่ตัวนำ) การวัดค่ากระแส หรือแรงดัน โดยเครื่องมือวัดกระแสหรือแรงดัน (Voltage Detector หรือ Multimeter) โดยการใช้เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า
นั้นให้พิจารณาถึงความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือวัดร่วมด้วยเสมอ

14.2 การทดสอบการตัดแยกพลังงานกล เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีพลังงานสะสม หรือ พลังงานจากกระบวนการหลงเหลืออยู่ ซึ่งถูกทดสอบโดยผู้ที่มีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือวัดทางกล กระบวนการ และเข้าใจถึงวิธีการอ่านค่าอย่างถูกต้อง เช่น การอ่านค่าจากเกจ (Gauge)ต่าง ๆ ได้แก่ เกจวัดแรงดัน เกจวัดอุณหภูมิ มิเตอร์วัดอัตราการไหล หรือ มิเตอร์วัดระดับ เป็นต้น

15. การตรวจสอบ (Trying) หมายถึง การพิสูจน์ประสิทธิภาพการตัดแยกระบบ โดยการพยายามทดลองให้อุปกรณ์หรือระบบนั้น ๆ ทำงาน เพื่อมั่นใจว่าสามารถตัดแยกระบบได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การทดลองเดินเครื่องจักร (On Switch) การเปิดวาล์วระบาย (Drain Valve) การเคาะฟังเสียง ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรออกจากการเชื่อมต่อพลังงาน เป็นต้น

16. ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานตัดแยกพลังงาน (Authorized Person) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำหน้าที่ตัดแยกแหล่งพลังงานและติดตั้งระบบ ล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock out/Tag out) แหล่งพลังงานนั้น เพื่อทำงานซ่อมบำรุงหรืองานวิศวกรรมเครื่องจักร/อุปกรณ์นั้น โดยผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมเรื่องการตัดแยกพลังงาน ระบบควบคุมการตัดแยกพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน และได้รับมอบหมายโดยหัวหน้างานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่กับเครื่องจักร/อุปกรณ์นั้นได้อย่างปลอดภัย

17. ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (Affected Person) หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการตัดแยกและการควบคุมการตัดแยกพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการเดินกระบวนการผลิต หรือมีหน้าที่ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงหรืองานวิศวกรรมเครื่องจักร/อุปกรณ์เช่น พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง ผู้รับเหมา เป็นต้น

18. สถานประกอบกิจการ หมายถึง หน่วยงานแต่ละแห่งของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานอยู่ในหน่วยงาน

19. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมายถึง การกระทำหรือสภาพการทำงาน ซึ่งปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือสุขภาพอนามัยอันเนื่องมาจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน

20. ความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S Risk) หมายถึง ผลลัพธ์ของความน่าจะเกิดอันตรายและผลจากอันตรายนั้น โดยความเสี่ยงในระดับสูงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการควบคุม


ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) -สสปท.


หากมีข้อเสนอแนะหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งสั่งซื้อสินค้าจากทาง www.tsafethai.com สามารถติดต่อมาได้ที่ 02-175-5651 หรือ email มาที่ salesteam01.gsi@gmail.com 

Visitors: 75,046